ชาฤๅษี ๓

Paraboea albida (Barnett) C. Puglisi

ชื่ออื่น ๆ
ชาตาฤๅษี (กลาง)
ไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านและแตกพุ่มในระดับต่ำ กิ่งก้านสีน้ำตาลอ่อน ยาวและค่อนข้างเปราะ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาว ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ พบบ้างที่เป็นช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกออกเป็นคู่สีม่วง คล้ายรูประฆัง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมื่อแห้งแข็งคล้ายเนื้อไม้ บางครั้งผิวมีนวลขาวเมล็ดสีน้ำตาล ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นไม้พุ่ม สูง ๓๐-๘๐ ซม. แตกกิ่งก้านและแตกพุ่มในระดับต่ำ กิ่งก้านสีน้ำตาลอ่อน ยาวและค่อนข้างเปราะ แต่ละกิ่งยาวได้ถึง ๖๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓.๗ ซม. ยาว ๓.๒-๘ ซม. ปลายแหลม โคนสอบหรือมนขอบเรียบหรือมีหยักห่าง ๆ ด้านบนมีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวประปราย ด้านล่างมีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ซม. ใบแก่โคนต้นม้วนงอและหลุดร่วง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบพบบ้างที่เป็นช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งแต่ละกิ่งมีได้ถึง ๓ ช่อ ช่อดอกยาวประมาณ ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๗ ซม. แต่ละช่อมีได้ถึง ๒๐ ดอก ช่อย่อยมี ๒ ดอก ใบประดับและใบประดับย่อยออกเป็นคู่ กลีบเลี้ยงสีเขียว มีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ปลายมี ๕ แฉก รูปไข่กว้าง ปลายมน แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๓ แฉก กว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๘-๙ มม. ระหว่างแฉกเชื่อมติดกันเกินครึ่งหนึ่งของความยาวแฉก ส่วน ๒ แฉกล่างแยกกันเกือบเป็นอิสระ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๗-๙ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาว กลีบดอกคล้ายรูประฆัง ปากกว้าง โคนเชื่อมติดกัน ยาว ๑.๔-๑.๘ ซม. ภายในหลอดสีขาวหรือสีม่วงอ่อน ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปเกือบกลม กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายมนกลมเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านชูอับเรณูรูปแถบเกือบแบน ยาวประมาณ ๖ มม. สีขาว โค้งงอตรงกลาง อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนคล้ายรูปหัวใจกลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็นหมัน ยาวประมาณ ๒.๕ มม.


อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก จานฐานดอกเป็นวงแหวนเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๓ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานถึงรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมี

ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. สีขาว ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. บิดเป็นเกลียว ปลายเรียว เมื่อแห้งแข็งคล้ายเนื้อไม้ บางครั้งผิวมีนวลขาว เมล็ดสีน้ำตาล ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางและภาคตะวันออก พบบริเวณยอดเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนการกระจายพันธุ์ของชาฤๅษีชนิดนี่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแคบ จัดเป็นพืชที่ถูกคุกคามเนื่องจากมักพบตามภูเขาหินปูนซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานของโรงงานปูนซีเมนต์และการทำหินอ่อนมากว่า ๓๐ ปี

 ประโยชน์ มีการเก็บยอดทำแห้งไว้สำหรับใช้ชงแทนใบชามาตั้งแต่โบราณ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษี ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea albida (Barnett) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
albida
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan (1890-1970)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ชื่ออื่น ๆ
ชาตาฤๅษี (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ